การเร้าความสนใจ

การเร้าความสนใจ



ทักษะการเร้าความสนใจ (Stimulation)
ทักษะการเร้าความสนใจ
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันคือ ผู้เรียนไม่ค่อยจะสนใจในการสอนของ เกิดความเบื่อหน่าย และไม่ตั้งใจเรียนเท่าที่ควร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สาเหตุที่สำคัญก็คือ เด็กเบื่อหน่ายในการเรียน ซึ่งอาจเป็นเพราะการสอนของครูไม่มีอะไรแปลกใหม่ หรือน่าสนใจเลย โดยเฉพาะเด็กระดับประถมศึกษาซึ่งมีช่วงเวลาของความสนใจในสิ่งต่าง ๆ สั้นมาก ถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาการไม่ตั้งใจเรียนของเด็กตั้งแต่ในระดับประถมแล้วจะทำให้เด็กเกิดความไม่เข้าใจและไม่ใส่ใจต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เราพบว่าบางครั้งเด็กไม่มีพัฒนาการทางสมอง การเรียน และความคิดเท่าระดับอายุที่ควรจะเป็นเลย ทั้งที่เด็กเหล่านั้นก็ไม่ได้มีระดับสติปัญญาที่ต่ำจนเกินไปเลย และปัญหานี้ก็จะยิ่งสะสมต่อกันมาเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่คนในวงวิชาชีพครูจะต้องมาร่วมหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้เรียนสนใจและติดตามบทเรียน ตลอดจนกิจกรรมที่ผู้สอนสอนได้ตลอดไป
ทักษะการเร้าความสนใจ หมายถึง ความสามารถในการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น สนใจที่จะเรียน หรือติดตามการเรียนการสอนตลอดเวลา ทักษะการเร้าความสนใจ จึงจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับผู้สอนในอันที่จะปรับปรุงกลวิธีในการสอนของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ ช่วยให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่ายในการเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นในช่วงเวลาของการสอน ผู้สอนควรจะต้องพยายามใช้เทคนิคต่าง ๆ มากระตุ้นให้นักเรียนสนใจอยู่ตลอดเวลาคือตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งการสอนสิ้นสุดลง
จุดมุ่งหมายในการเร้าความสนใจ
1. สร้างพฤติกรรมที่ดีในอันที่จะทำให้ผู้เรียนสนใจ และไม่เบื่อหน่ายต่อการเรียน
2. เลือกหาวิธีการเร้าความสนใจที่เหมาะสมกับบทเรียนและกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนมากขึ้น
3. เพื่อสร้างความมั่นใจในการสอนของผู้สอน
วิธีการเร้าความสนใจ
การเร้าความสนใจกระทำได้หลายวิธี เช่น
1. การใช้ท่าทางประกอบ ท่าทางของผู้สอนในขณะทำการสอน เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเร้าความสนใจในการเรียนและการติดตามบทเรียนได้เป็นอย่างดี การใช้ท่าทางในการสอนได้แก่ การแสดงออกทางสีหน้า หรืออวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย เช่น แขน มือ เป็นต้น เพื่อใช้แทนการสื่อสารด้วยวาจา และการเคลื่อนไหวของในขณะสอน ขณะสอนผู้สอนควรมีการเคลื่อนไหวบ้าง ไม่ควรยืนอยู่จุดใดจุดหนึ่งโดยไม่มีการเคลื่อนที่ เพราะการที่ผู้เรียนต้องเพ่งไปที่จุด ๆ เดียวตลอดย่อมจะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย แต่การเคลื่อนที่ก็ควรจะต้องมีจุดมุ่งหมาย ไม่ใช่เดินไปเดินมาโดยไม่มีจุดหมาย
2. การใช้ถ้อยคำและน้ำเสียงที่มีการปรับเปลี่ยนระดับเสียงตามความเหมาะสม ผู้สอนควรฝึกพูดให้ชัดเจน มีจังหวะน่าฟัง ไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป รู้จักเน้นหนักเบา การพูดโดยใช้เสียงราบเรียบโดยตลอดในขณะสอนย่อมทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่ายได้ง่าย
3. การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน การที่ผู้สอนพูดอยู่คนเดียวตลอด ย่อมทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมในการเรียนจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น
4. การใช้สื่อการสอนประกอบ การเรียนรู้ที่ดีนั้นควรจะให้ผู้เรียนได้ใช้ประสาทสัมผัส หลาย ๆ อย่าง เช่น ฟัง พูด เขียน อ่าน การนำสื่อการเรียนเข้ามาใช้ก็เพื่อที่จะทำให้ผู้เรียนสนใจเรียนและเข้าใจบทเรียนดีขึ้น สื่อการเรียน หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้สอนนำเข้ามาช่วยในการเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้นเช่น แผนภูมิ แผนภาพ ฯลฯ
5. การแสดงบทบาทหรือสถานการณ์จำลอง
6. การใช้เกม เกมในที่นี้เกมที่นำมาใช้ควรเป็นเกมที่ช่วยในการเรียนรู้ มิใช่เกมที่เล่นเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น
7. การสาธิต การสาธิตคือการนำเอาวัสดุอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน ตลอดจนการแสดงของครูหรือนักเรียนมาประกอบการสอนหรือการอธิบาย เพื่อให้ผู้เรียนสังเกตเห็นได้จริง ซึ่งการสาธิตก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเร้าความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
คุณลักษณะที่ประเมิน
1. ผู้สอนมีการเร้าความสนใจด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1.1 การสนับสนุนด้วยภาษา ใช้ท่าทาง เช่น ยิ้ม พยักหน้า ก้มศีรษะ ฯลฯ
1.2 การใช้ถ้อยคำและน้ำเสียง เช่น ให้คำชมเชยว่า ดี, พอใช้, ดีมาก ฯลฯ
1.3 การเสริมแรงด้วยคำพูดอื่น ๆ นอกเหนือไปจากคำ ชมเชย
1.4 การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน
1.5 การใช้สื่อประกอบการเรียนการสอน
1.6 การแสดงบทบาทสมมติหรือสถานการณ์จำลอง
1.7 การใช้เกมประกอบการเรียนการสอน
1.8 การสาธิตประกอบการเรียนการสอน
1.9 อื่น ๆ
2. การเร้าความสนใจเหมาะสมกับเนื้อหาที่จะสอน
3. มีการเปลี่ยนวิธีการเร้าความสนใจจากวิธีหนึ่งไปอีกวิธีหนึ่งได้อย่างกลมกลืนกัน
4. น้ำเสียง ท่าทาง การเคลื่อนไหวของผู้สอนช่วยในการเร้าความสนใจของผู้เรียน
5. ผู้เรียนมีการตอบสนองต่อวิธีการเร้าความสนใจของผู้สอน